คำถามที่พบบ่อย
ขอใช้ตัวเลขประมาณการจากโรงงานสกลนคร เนื่องจากโครงสร้างต้นทุนที่อิสระจากค่าใช้จ่ายส่วนกลางของกลุ่ม เมื่อทำการคำนวณพบว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตที่จุด break even ใกล้เคียงกับร้อยละ 60 ของกำลังการผลิตรวม
สำหรับลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทซึ่งเป็นลูกค้าต่างประเทศ เมื่อบริษัทรับออเดอร์การสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าแล้ว การจัดส่งมักจะเกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือนนับจากวันรับออเดอร์ จึงอาจกล่าวได้ว่าบริษัททราบออเดอร์ล่วงหน้าในระยะเวลาใกล้เคียงกัน
บริษัทมีการดำเนินการดังนี้
- สร้างเครือข่ายเกษตรกรที่แข็งแรงในพื้นที่โรงงาน เพื่อเกิด engagement นำไปสู่เกษตรกรนำสินค้ามาขายให้กับบริษัท
- ให้ความรู้เกษตรกร แนะนำวิธีการปลูกรวมถึงพันธุ์พืชที่ใช้ปลูกให้ได้ผลิตผลต่อไร่ที่ดี มีมาตรฐาน % แป้งสูง และมีความต้านทานโรค
- จัดให้มีฝ่ายส่งเสริมดูแลกลุ่มเกษตรที่เป็นพันธมิตร เพื่อรับทราบปัญหาและหาวิธีแก้อย่างทันท่วงที
- มีการใช้เครือข่ายผู้ค้าคนกลางที่สามารถรวบรวมผลิตผลมันสำปะหลังจากแหล่งต่างๆ มาขายให้กับบริษัท
- สร้างโรงงานให้มีกำลังการผลิตสูง เพื่อรองรับการผลิตจำนวนมากในช่วงที่ผลผลิตดี มาชดเชยในช่วงที่เป็น Low Season ของปี ทั้งนี้ ช่วงระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่ผลผลิตหัวมันสำปะหลังออกสู่ตลาดมากในปีที่ผ่านมา ได้แก่ ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม และช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม
นอกจากนี้ บริษัทกำลังขยายธุรกิจไปในธุรกิจแป้งมันสำปะหลังดัดแปร เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าแป้งมันสำปะหลังที่มีอยู่แล้ว ซึ่งสินค้าแป้งมันสำปะหลังดัดแปรมีอัตรากำไรที่ดี จะมาช่วยชดเชยกับกำไรจากสินค้าแป้งมันสำปะหลังแบบมาตรฐานที่ลดลงจากปริมาณผลิตในช่วง Low Season
อัตรากำไรขั้นต้นตามแผนงานอยู่ที่ราว 20% (อัตรากำไรขั้นต้นของปี 64-65 ซึ่งอยู่ประมาณ 25% และ 22% เป็นอัตรากำไรปกติของธุรกิจ) ซึ่งปัจจุบัน จากการที่บริษัทพยายามบริหารจัดการต้นทุนเรื่องค่าไฟฟ้าได้สำเร็จ โดยมีโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นของตัวเอง ทำให้ช่วยได้มากในเรื่องของต้นทุนค่าไฟฟ้า
- บริษัทมีแนวทางในการบริหารค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารให้ไม่เกินร้อยละ 10 ของยอดรายได้ ในส่วนของพนักงานในเครือทั้งหมดประมาณ 521 คน โดยที่โรงงานใหม่ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างมีการวางแผนนำเทคโนโลยีในด้านเครื่องจักรเข้ามาใช้ ทำให้จำนวนพนักงานน้อยลง
- ปัจจุบัน บริษัทมี โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง 2 แห่ง ( มุกดาหาร และสกลนคร ) และ โรงไฟฟ้า 1 แห่ง
- แป้งมันสำปะหลังดัดแปร เป็นแป้งมันสำปะหลังที่เติมคุณสมบัติอื่นๆ เพิ่มเข้าไปตามที่ตกลงกับลูกค้าแต่ละราย ซึ่งลูกค้าจะนำแป้งมันสำปะหลังดัดแปรไปใช้ในผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นแป้งมันสำปะหลังดัดแปรถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตตามคำสั่งซื้อ ซึ่งทำให้มีอัตรากำไรเพิ่มสูงขึ้นจากแป้งมันสำปะหลังปกติ
- บริษัทมีการผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปรใน 2 รูปแบบ
- บริษัทเป็นเจ้าของสูตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบบกึ่งสำเร็จรูปที่ลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ รู้จักกันดีอยู่แล้ว สามารถขายได้ทันที
- บริษัทร่วมพัฒนาสูตรกับลูกค้า ซึ่งเป็นการตกลงกับลูกค้าแต่ละรายเป็นแบบเฉพาะเจาะจง และมีสัญญาระยะยาว
สำหรับสินค้าแป้งในกลุ่มแป้งมันสำปะหลังดัดแปร ในช่วงเริ่มต้นบริษัทวางแผนเปิดตลาดไปยังพื้นที่ที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญในการทำตลาด ได้แก่ ประเทศจีน ก่อนจะขยายไปยังประเทศอื่นๆ โดยในช่วงเริ่มต้นจะมุ่งเน้นไปยังกลุ่มลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมกระดาษและอาหาร
จะขอยกตัวอย่างโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังแห่งใหม่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ บริษัทวางแผนใช้พนักงานทั้งสิ้นประมาณ 130-140 คน ประกอบด้วยพนักงานรายเดือนและรายวัน สำหรับพนักงานรายวัน จะแบ่งการทำงานออกเป็น 3 กะ ทั้งนี้ในการเพิ่มจำนวนพนักงานขึ้นอยู่กับการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต
ในกระบวนการผลิตมีการใช้ระบบ Automation ตั้งแต่กระบวนการลำเลียงวัตถุดิบเข้าบ่อล้าง สับและบดหัวมัน สกัดและแยกน้ำออกจากแป้ง การอบแห้ง จนถึงขั้นตอนการบรรจุ
ด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจอย่างยาวนาน ผนวกด้วยความแข็งแกร่งด้านเงินทุน ทำให้บริษัทมีศักยภาพในการขยายการลงทุนไปยังพื้นที่อื่นๆ เช่นเดียวกับที่บริษัทได้ดำเนินการขยายโรงงานแห่งใหม่ในจังหวัดกาฬสินธุ์ที่กำลังดำเนินการ
นอกจากนี้ ภายใต้สภาวะที่วัตถุดิบที่มีความผันผวนและการแข่งขันด้านการจัดหาหัวมันที่เข้มข้น ทำให้เกิดกรณีผู้ประกอบการท้องถิ่นบางรายที่ขาดการปรับตัว ขาดแคลนเงินทุน และหรือขาดการบริหารงานอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง ตัดสินใจ exit จากธุรกิจ ซึ่งบริษัทไม่ปิดกั้นโอกาสในการศึกษาความเป็นไปได้ในการพิจารณาการเข้าซื้อสินทรัพย์หรือกิจการดังกล่าว
บริษัทคาดการณ์การเติบโตของรายได้และกำไรอย่างมีนัยสำคัญอย่างต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้า
โดยในระยะสั้นการเติบโตจะมาจากโรงงานใหม่ของบริษัททั้งสองโรง ได้แก่ โรงงานแป้งมันสำปะหลังที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และโรงงานแป้งมันสำปะหลังดัดแปร ซึ่งจะเริ่มการเริ่มดำเนินการผลิตและเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 เป็นต้นไป โดยรายได้จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามการใช้กำลังการผลิต นอกจากนี้ สำหรับโรงงานเดิมของบริษัทที่มุกดาหารและสกลนคร บริษัทก็มีแผนในการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานซึ่งจะทำให้มีสัดส่วนรายได้ต่อต้นทุนที่ดีขึ้นอีกด้วย
ส่วนระยะยาวบริษัท ยังมองหาโอกาสการเติบโตจากการขยายกำลังการผลิตไปยังพื้นที่ที่เหมาะสม ซึ่งอาจมาจากการลงทุนในโรงการใหม่ด้วยตนเองแบบเดียวกับโรงงานกาฬสินธุ์ หรืออาจมาจากการเข้าซื้อธุรกิจ หรือ สินทรัพย์โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังอื่นๆ เป็นต้น
ในปี 2566 มีปัจจัยต่างๆ ที่กดดันการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยเริ่มต้นจากเหตุการณ์น้ำท่วมในภาคอีสาน ทำให้เกิดสถานการณ์หัวมันเน่า เกษตรกรขาดแคลนท่อนพันธุ์ ตามมาด้วยภาวะแล้งทำให้หัวมันเติบโตไม่เต็มที่ และส่งผลต่อการเกิดโรคใบด่าง เพลี้ยไฟ และเพลี้ยแป้ง ทำให้ปริมาณและคุณภาพผลผลิตหัวมันที่ออกสู่ตลาดลดลง และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผู้ผลิตแป้งอย่างมีนัยสำคัญ
การดำเนินงานของบริษัทก็ได้รับผลกระทบจากสาเหตุดังกล่าวเช่นกัน โดยไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งฝ่ายจัดการของบริษัทได้พยายามหาแนวทางในการบรรเทาผลกระทบดังกล่าวด้วยมาตรการหลากหลาย เช่น การร่วมมือกับพันธมิตรในการจัดหาหัวมันในภาวะขาดแคลน การให้ความสนับสนุนเกษตรกรในด้านต่างๆ เช่น ท่อนพันธุ์ และมาตรการด้านแรงจูงใจที่นอกเหนือไปจากราคารับซื้อ เป็นต้น นอกจากนี้ ด้วยความต้องการของสินค้าจากลูกค้าหลักของบริษัทยังคงแข็งแกร่ง ทำให้ราคาขายสินค้าของบริษัทยังยืนอยู่ได้ในระดับสูง ทำให้ผลประกอบการทั้งปีนี้แม้ว่าจะไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ แต่ก็ยังสามารถทำกำไรต่อเนื่องได้ในภาวะที่ผู้ประกอบการหลายรายในอุตสาหกรรมประสบภาวะขาดทุน
การตัดสินใจที่ดีที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา คือ การตัดสินใจเดินหน้า ผลักดันให้บริษัทสามารถเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตั้งแต่ช่วงต้นปี ทำให้บริษัทลดต้นทุนทางการเงิน มีเงินทุนหมุนเวียนอย่างเพียงพอที่จะดำเนินการขยายธุรกิจไปในโรงงาน Modified Starch ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาสมดุลของอัตรากำไรได้ดีขึ้น และสร้างชื่อเสียงของบริษัทไปในอีกระดับหนึ่ง โดยสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นกว่าเดิม ทำให้บริษัทโดดเด่น แตกต่างจากผู้ประกอบการผู้ผลิตมันสำปะหลังรายอื่นๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศไทย
ตลอดระยะเวลาในการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี 2548 บริษัทถือได้ว่าเป็นผู้ผลิตที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตแป้งมันสำปะหลัง (Tapioca starch) สินค้าของบริษัทเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับของลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยบริษัทได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพหลากหลายสาขา ทั้งระบบ ISO9001:2015 ด้านระบบบริหารคุณภาพ (Quality Management System) การดำเนินธุรกิจให้เติบโตโดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามคุณภาพ ISO14001:2015 ด้านระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental Management System) รวมถึงได้รับการรับรองจาก United Kingdom Accreditation Service ซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองระบบของสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ แสดงให้เห็นถึงความเป็นธรรมและความสามารถในการปฏิบัติงานและการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐานสากลที่มีคุณภาพ
บริษัทยังได้รับมาตรฐาน HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) หรือการป้องกันเพื่อความปลอดภัยสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและยา มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) หรือคุณภาพที่ดีในการปฏิบัติในการผลิตอาหารเพื่อให้เกิดความปลอดภัย มาตรฐาน Halal คือการให้บริการหรือการจำหน่ายสินค้าที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนาอิสลาม และมาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียว
นอกจากนี้ เพื่อให้บริษัทผลิตสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีคุณภาพ และได้รับมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป บริษัทมีการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด ดังนี้
- กลยุทธ์ในการสร้างความแตกต่างในผลิตภัณฑ์ ได้แก่ การผลิตแป้งมันสำปะหลังเกรดพรีเมี่ยม
- กลยุทธ์ในการหาลูกค้ารายใหม่และเพิ่มยอดขายสำหรับลูกค้าเดิม
- กลยุทธ์ในการขายแป้งมันสำปะหลัง เน้นบริการที่รวดเร็ว และทันท่วงที
- กลยุทธ์ในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง
- กลยุทธ์ในการสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าในด้านคุณภาพและบริการ
- กลยุทธ์ในการสร้างคู่ค้าทางธุรกิจ เพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน
บริษัทคาดว่าจะสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายของโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังแห่งใหม่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปรที่จังหวัดมุกดาหาร ให้อยู่ภายใต้งบประมาณที่ได้วางไว้ ทั้งนี้ ในปี 2567 ซึ่งคาดการณ์ว่าโรงงานจะสามารถเริ่มดำเนินงานได้เป็นปีแรก บริษัทจะรับรู้ค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้นจากทั้งสองโครงการคิดเป็นประมาณ 6 - 6.5 ล้านบาทต่อเดือน
ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2567 ผลผลิตหัวมันที่เข้าสู่ตลาดมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลเมื่อเทียบกับ 4Q23 ทำให้บริษัทสามารถบริหารจัดการต้นทุนการรับซื้อหัวมัน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ดี นอกจากนี้ ราคาขายเฉลี่ยยังยืนอยู่ได้ในระดับสูงจากความต้องการสินค้าของลูกค้าที่ยังแข็งแกร่ง ด้วยเหตุดังกล่าว บริษัทคาดว่าส่วนต่างระหว่างต้นทุนวัตถุดิบและราคาขายจะมีทิศทางที่ดีขึ้นเล็กน้อยในช่วง 1Q24 เมื่อเทียบกับ 4Q23
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญของประเทศไทย โดยเป็นพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 54% ของพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ ทั้งนี้พื้นที่ตั้งโรงงานของบริษัท ซึ่งอยู่ในจังหวัดมุกดาหาร จังหวัดสกลนคร และจังหวัดกาฬสินธุ์ รวมถึงพื้นที่รอบข้างนั้น นับเป็นพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกมันสำปะหลังอย่างแพร่หลายและมีความพร้อมด้านวัตถุดิบที่เหมาะสม
การรับซื้อวัตถุดิบหัวมันจะมีระดับราคารับซื้อที่แตกต่างกัน ตามเปอร์เซ็นต์เชื้อแป้งที่ทำการสุ่มวัดจากหัวมันเมื่อเกษตรกรนำผลผลิตมาจำหน่าย โดยทั่วไประดับเปอร์เซ็นต์เชื้อแป้งเฉลี่ยที่วัดได้จากการรับซื้อจะอยู่ที่ประมาณ 25% จึงอาจกล่าวได้ว่า ราคารับซื้อวัตถุดิบหัวมันที่ระดับเชื้อแป้งที่ 25% จะสะท้อนภาพของต้นทุนวัตถุดิบหัวมันได้เหมาะสมกว่า
ในปีที่ผลผลิตมันสำปะหลังในภาพรวมเป็นปรกติ และไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือภัยธรรมชาติ การใช้กำลังการผลิตของโรงงานเดิมของบริษัทนับว่าอยู่ในระดับสูง เช่น ในปี 2564-2565 ที่ระดับการใช้กำลังการผลิตที่คำนึงถึงฤดูกาล (Utilization of seasonal capacity) อยู่ในระดับ 72% - 83% ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับการเติบโตในอนาคต บริษัทเห็นว่าการวางแผนขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมจึงมีความสำคัญและเป็นเรื่องที่จำเป็น ทั้งนี้ การขยายกำลังการผลิตไปยังพื้นที่ภูมิศาสตร์ใหม่จะช่วยขยายพื้นที่รับซื้อวัตถุดิบให้กระจายตัว ช่วยลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติหรือโรคระบาดซึ่งมักส่งผลกระทบเฉพาะพื้นที่ และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารไปพร้อมกันด้วย
โรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง เริ่มระบาดรุนแรงครั้งแรกตั้งแต่ปี 2561 ระบาดโดยท่อนพันธุ์ที่มีโรคและมีแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นพาหะ แม้ว่าในปี 2564 คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติงบประมาณกว่า 1,300 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรที่ทำลายต้นมันที่เป็นโรค และมาตรการอื่น ๆ เพื่อแก้ปัญหา และในปี 2565 ภาครัฐยืนยันความสำเร็จการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลัง โดยกรมส่งเสริมการเกษตร แถลงควบคุมการระบาดได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สถานการณ์การระบาดของโรคยังคงมีปรากฎอยู่
อย่างไรก็ดี ความพยายามในการป้องกันและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลังไม่ให้กระจายไปพื้นที่อื่นยังดำเนินอยู่ต่อเนื่อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้กำหนดมาตรการต่างๆ เช่น การขนย้ายเข้ามาหรือออกจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ต้องอยู่ภายใต้มาตรการควบคุม โดยมาตรการดังกล่าวครอบคลุมถึงพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ของภาคอีสาน เป็นต้น
แม้ในพื้นที่การดำเนินธุรกิจของบริษัท สถานการณ์โรคระบาดดังกล่าวจะไม่รุนแรงเท่าพื้นที่อื่นๆ แต่บริษัทเห็นว่าอาจมีความเสี่ยงที่จะกระทบทำให้เกษตรกรอาจจะขาดแคลนท่อนพันธุ์ หลังบางพื้นที่ราคาท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทก็ได้ตระหนักและเตรียมความพร้อมในการรับมือไว้เช่นกัน เช่น ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาร่วมกับหน่วยงานภายนอกและกำหนดพื้นที่ทดลองเพื่อให้ได้มาซึ่งพันธุ์มันที่ต้านทานโรค สำหรับใช้ในงานด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการเพาะปลูกให้เกษตรกรที่ประสบปัญหาต่อไป เป็นต้น